ฝรั่งทิ้งหมาปล่อยหิวโซ เพราะดื้อ กลายเป็นภาระสังคม กฎหมายเอาผิดได้แค่ไหน
กรณีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในบ้านพัก จ.เชียงใหม่ ปล่อยให้หมาไทยหลังอาน 2 ตัว ที่เลี้ยงไว้หิวโซ โดยไม่ยอมให้อาหารและปล่อยทิ้งไว้หน้าบ้านร่วม 2 อาทิตย์ เพราะหมามีพฤติกรรมดื้อ ทำลายสิ่งของภายในบ้าน จนชาวบ้านละแวกนั้นทนไม่ไหวต้องไปแจ้งกับมูลนิธิที่ดูแลสัตว์ เพื่อเจรจากับฝรั่งเจ้าของสุนัข ในการหาบ้านใหม่ให้กับสุนัขทั้ง 2 ตัว
เนื่องจากชาวบ้านละแวกใกล้เคียงไม่กล้านำสุนัขไปรับเลี้ยงต่อ เพราะเคยเกิดกรณีนำสุนัขที่ถูกเจ้าของทอดทิ้งไปเลี้ยงต่อ โดยไม่แจ้งเจ้าของเดิม ต่อมาได้ถูกแจ้งความลักทรัพย์กับผู้นำสุนัขไป ล่าสุดหมาไทยหลังอานทั้ง 2 ตัว ได้บ้านใหม่แล้ว แต่ยังมีอาการหวาดกลัว ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักพักในการปรับตัว
สำหรับกฎหมายเอาผิดกับเจ้าของที่นำหมามาทิ้ง ถือเป็นประเด็นถกเถียงมายาวนาน แต่ยังขาดการบังคับใช้และลงโทษอย่างเข้มงวด โดยตัวแทนฝ่ายกฎหมายของ มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ (Watchdog Thailand Foundation) ให้ข้อมูลว่า การนำสุนัขที่เลี้ยงมาปล่อยทิ้งเป็นปัญหามายาวนาน โดยคนนำมาทิ้งส่วนใหญ่ไม่สามารถเลี้ยงสุนัขต่อได้ หรือสุนัขมีอาการป่วยเลยไม่อยากเสียค่ารักษา ส่วนอีกกรณีเกิดจากสุนัขมีพฤติกรรมซนก่อปัญหาทำลายทรัพย์สิน ซึ่งต้นเหตุทั้งหมดล้วนมาจากปัญหาส่วนตัวของคนเลี้ยง
“กรณีฝรั่งเลี้ยงหมาหลังอาน แล้วนำมาปล่อยให้อยู่นอกบ้าน เพราะดื้อทำลายสิ่งของในบ้าน โดยไม่ให้อาหาร ถือว่ามีความผิดที่ทอดทิ้งสัตว์ไปให้พ้นภาระ มีความผิดตามมาตรา 23 แต่โทษของผู้กระทำผิดมีเพียงโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 4 หมื่นบาท ซึ่งเมื่อขึ้นศาลจะมีโทษปรับเพียง 500-2,000 บาท”
แม้มีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ปี 2557 ระบุไว้ในมาตรา 23 ห้ามไม่ให้เจ้าของทอดทิ้งสัตว์ไปให้พ้นภาระ โดยมุ่งเน้นลงโทษเจ้าของสัตว์เป็นหลัก แต่ขณะนี้มีหลายกรณีที่ไม่ใช่เจ้าของพยายามนำหมาไปปล่อยนอกพื้นที่ของตัวเอง เช่น ผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่ในหมู่บ้าน เมื่อมีสุนัขจรจัดเข้ามาในพื้นที่ ได้จับไปปล่อยทิ้งที่อื่น ซึ่งกฎหมายเอาผิดโดยตรงไม่มี แต่ต้องนำกฎหมายทารุณกรรมสัตว์มาใช้เพื่อลงโทษแทน